อมิตา อริยอัชฌา
August 18, 2017
Younger Next Year
"เฮนน่า" ปิดผมขาวสบายใจแบบสายคลีน
"สายคลีน" ทั้งหลายคงเป็นที่รู้ซึ้งกันดีถึงสารเคมีอันตรายที่ล้อมกรอบชีวิตเราอยู่ แต่ที่ใกล้ชิดติด(หนัง)ศีรษะที่สุดคงไม่พ้นยาย้อมผม ที่ไม่เพียงทำลายสุขภาพผมเงางามของเราอย่างโหดร้ายทุกครั้งที่ใช้ แต่เคมีบางตัวยังสามารถซึมผ่านรากผมลงไปสู่ร่างกาย บางตัวถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดมะเร็งร้ายกันเลยทีเดียว
เรื่องนี้ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาลอยๆ มีการถกเถียงกันถึงสารเคมีหลายพันชนิดที่ใช้กันในยาย้อมผมแบบถาวร งานวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2001 พบว่าผู้หญิงที่ใช้ยาย้อมผมแบบถาวรเดือนละครั้งเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี มีความเสี่ยงต่อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้นสองเท่า
วารสาร American Journal of Epidemiology เคยเผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาย้อมผมและการป่วยด้วยโรคมะเร็งแบบ lymphoid neoplasma (มะเร็งของเม็ดเลือดที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลือง)
หากลองอ่านฉลากหลังผลิตภัณฑ์ย้อมผมประเภทย้อมเร็วได้สีดังใจ จะพบว่ามีรายชื่อสารเคมีมากมาย รวมทั้ง p-phenylenediamine (PPD) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพ้และสัมพันธ์กับมะเร็ง
เปลี่ยนสีมีแต่เสียว
เมื่ออายุน้อยเราเปลี่ยนสีผมเพื่อสร้างความสดใส แต่พออายุมากการย้อมผมกลายเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพราะอยากสวยอีกต่อไปแต่เพื่อปิดบังผมขาว ยิ่งอายุมากยิ่งต้องย้อมผมถี่ๆ ผู้หญิงหลายคนเริ่มใจไม่ดีว่าอาจต้องอยู่ยาย้อมผมเคมีไปตลอดชีวิต
"สายคลีน" จึงเริ่มมองหาผู้ช่วยจากธรรมชาติ ที่อาจเป็นอันตรายน้อยกว่า แล้วก็พบว่า "เฮนน่า" ก็คือคำตอบของใจ
เฮนน่าคืออะไร
ส่วนประกอบของโมเลกุลสีส้มแดงหรือเรียกว่าลอโซเนีย อิเนอร์มิส สามารถเปล่งพลังสีเคลือบเส้นผมให้กลายเป็นเฉดสีแดงแปลกตา เฮนน่าจึงถูกผู้หญิงเจ้าปัญญานำมาเป็นส่วนผสมหลักตั้งแต่โบราณกาลเพื่อใช้เคลือบปิดเส้นผมหงอกขาว ช่วยผู้หญิงให้ยังคงความเยาว์ไว้ได้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปกี่ปี
เฮนน่า "อินเทรนด์" สุดๆ ในอียิปต์เมื่อ 3000 ปีก่อน ตอนที่พระนางคลีโอพัตราและสตรีอียิปต์โบราณ ใช้สารย้อมสีน้ำตาลแดงจากเฮนน่าทามือเพื่อให้ดูสดใส โดยผสมสีเสียดเพื่อให้สีเข้มขึ้น บุรุษอียิปต์ยังนิยมใช้เฮนน่าย้อมผมและเครา
ชาวอินเดียยิ่ง "คูล" กว่า เพราะรู้จักใช้ใบสดของเฮนน่าย้อมทั้งผ้า ย้อมสีผม ย้อมขน คิ้ว หนวด จนถึงเขียนลายบนฝ่าเท้า หรือบนผิวกายได้อย่างวิจิตรพิสดาร
สีสันแห่งความงาม
ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Lawsonia Inermis เป็นไม้พุ่มในเขตร้อนตระกูลลีทราซี (Lytharaceae) แหล่งปลูกเฮนน่ามีทั้งในอินเดีย เนปาล อราเบีย มอร็อคโค มอริทาเนีย มาลี เซเนกัล ซูดาน อิหร่าน ปากีสถาน มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ยกย่องกันว่าเฮนน่าจากแคว้น Rajasthan ประเทศอินเดีย และประเทศเยเมน มีคุณภาพดีที่สุดในโลก
ผงเฮนน่าแท้ๆ จะสีออกเขียว ได้จากการนำทั้งใบ กิ่ง และก้านมาตากแห้งแล้วป่นให้เป็นผงละเอียด เมื่อนำมาใช้ต้องผสมน้ำจนกลายเป็นครีมข้น นำมาย้อมหมักกับผมทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมงจนติดดี
แตกต่างจากเคมีที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเส้นผม เฮนน่าจะทำหน้าที่แค่เคลือบผมทั้งเส้นให้กลายเป็นสีน้ำตาลแดง/แดงอมทอง/แดงอมส้ม ขึ้นอยู่กับพื้นผมเดิมของแต่ละคน แต่เนื่องจากคนเอเชียมีเส้นผมสีเข้ม สีของเฮนน่าจึงไม่เห็นเด่นนักบนผมดำ แต่จะเห็นชัดกว่าบนเส้นผมสีเงินหรือขาว ผลจึงดูเหมือนไฮไลท์ธรรมชาติท่ามกลางผมสีเข้ม
เฮนน่ามีคุณสมบัติการติดทนเทียบเท่าสีย้อมแบบกึ่งถาวร เมื่อย้อมเฮนน่าแล้วสีจะติดเส้นผมนาน 3–4 สัปดาห์ จากนั้นเฮนนาจะค่อยๆ หลุดจางไปตามการสระผม
เกร็ดกรุบกริบเรื่องเฮนน่า
*ผู้หญิงหลายคนท้อใจแค่ได้รู้ว่าการทำสีผมด้วยเฮนน่าไม่รวดเร็วทันใจ ว่องไวขนาดแค่ 5-10 นาทีเหมือนที่เคยใช้สารเคมี ขอให้ระลึกว่ายิ่งเร็วทันใจเท่าใด ได้ผลถูกใจราวปาฏิหาริย์เท่าใด ก็หมายถึงต้องพึ่งพาความเก่งกาจของสารเคมีมากเท่านั้น การหมักเฮนน่าจนเข้าเส้นผม อาจกินเวลานานถึง 4-6 ชั่วโมง เทียบได้กับการหมักครีมบำรุงผิวพรรณหรือหมักผมเพื่อบำรุงสุดสัปดาห์
*ผมที่ผ่านการย้อมเคมีมาไม่นาน เฮนน่าอาจจะไม่ทำให้เปลี่ยนสีได้อย่างฉับพลัน ในช่วงแรกอาจต้องรอจนกว่าผมใหม่ที่ยังไม่โดนเคมีจะงอกขึ้นมา ระหว่างนี้ให้หยุดใช้ยาย้อมผมเคมีก่อน แล้วเริ่มใช้เฮนน่าแทนครีมหมักผม แม้สีผมยังไม่เปลี่ยน แต่เฮนน่าจะช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม ปรับสภาพเส้นผมให้แข็งแรงขึ้นอย่างรู้สึกได้ ผมจะมีน้ำหนักเงางามกว่าตอนที่ใช้เคมี
*เฮนน่าจะเพิ่มการติดสีตามระยะเวลาที่ใช้ คนที่ทำเฮนน่าครั้งแรกอาจเห็นว่าผมขาวติดสีทองอ่อนมากๆ จึงถอดใจกลับไปใช้ยาย้อมผมเคมีอีก ลองอดทนย้อมเฮนน่าต่ออีกสักสามรอบ จะเริ่มเห็นว่าผมขาวติดสีมากขึ้นและสีเข้มขึ้นทีละน้อย
*พยายามอย่าใช้เฮนน่าสลับกับยาย้อมผมเคมี เพราะการสลับไปมาอาจจะทำให้ไม่ได้ผลทั้งสองอย่าง
วิธีผสมเฮนน่า
2) ค่อยๆ เติมน้ำร้อนลงไปในเฮนน่าทีละน้อย แล้วคนให้เข้ากัน ถ้าส่วนผสมแห้งก็เพิ่มน้ำทีละน้อย คนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว
3) หากต้องการให้ผมมีสีเข้มขึ้น แนะนำให้ใช้กาแฟผงใส่ลงไปในเฮนน่า หรือจะนำผงกาแฟผสมกับน้ำร้อนแล้วนำมาเทใส่เฮนน่าแทนน้ำเปล่าก็ได้ หรือจะชงกาแฟดำสดเข้มๆ มาผสมแทนน้ำก็ได้ ความร้อนจะทำให้เฮนน่าคายสีออกมาเร็ว แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจนเดือด
4) ใช้ไม้พายคนส่วนผสมให้เข้ากันจนมีลักษณะเป็นครีมข้นๆ ลองกะด้วยตัวเองว่าให้ข้นขนาดสามารถป้ายลงบนผมได้อยู่ตัวโดยไม่แห้งเกินไป จนเป็นก้อนสากบนผมและไม่เหลวไปจนหยดไหลเยิ้ม
5) ตั้งเฮนน่าทิ้งไว้อย่างน้อยสัก 2-3 ชั่วโมง ผู้รู้แนะนำว่ายิ่งตั้งทิ้งไว้นานยิ่งดี
วิธีย้อมเฮนน่า
2) สวมถุงมือพลาสติกกันเปื้อน แบ่งผมเป็นช่อๆ โดยใช้ที่หนีบผม แล้วเริ่มป้ายครีมเฮนน่าลงบนผมจากโคนจรดปลาย หรือจะใช้แปรงเล็กๆ ค่อยๆ จุ่มเฮนน่าทาผมจากโคนจรดปลายก็ได้
3) เมื่อทาเฮนน่าลงบนเส้นผมทั้งศีรษะแล้ว ให้นำหมวกคลุมผมพลาสติกสวมทับ แล้วทิ้งไว้ 4-6 ชั่วโมง สำหรับผมขาวอาจทิ้งไว้ให้นานขึ้นเป็น 6-8 ชั่วโมง สามารถทำงานเบาๆ หรือดูทีวีได้ แต่อย่าออกกำลังกาย เพราะหากเหงื่อออก อาจทำให้ผมเปียกชื้นขึ้นมาได้
4) เมื่อครบเวลาแล้ว ให้ล้างเฮนน่าออกด้วยน้ำอุ่น ล้างจนกว่าผมจะสะอาด
![]() |
credit image : http://www.christianmoerk.com |
ปรับสีเฮนน่าได้เล็กน้อย
1) ผสมกาแฟ 2-3 ช้อนลงไปหรือผสมผงเฮนน่าด้วยกาแฟดำเข้มข้นแทนน้ำเปล่า สามารถลดโทนแดงลงได้เล็กน้อย
2) คนอินเดียนิยมผสมเฮนน่าด้วยน้ำต้มใบชาเข้มๆ ซึ่งจะทำให้สีสว่างขึ้น
3) ผสมน้ำดอกอัญชันแทนน้ำเปล่า โดยใช้ดอกอัญชัน 30-50 ดอก ต้มรวมกับน้ำชาแล้วคั้นเอาแต่น้ำสีน้ำเงินเข้มผสมกับเฮนน่า ทำให้สีผมเข้มขึ้นเล็กน้อย เหมาะกับคนไทย
4) หากใช้ผงเฮนน่า 100% ควรเติมน้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก หรือน้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลลงไป 1-2 ช้อนชา ทำให้สีติดดีขึ้น แต่ไม่ต้องเติมหากใช้เฮนน่าที่ผสมมะขามป้อม(Amla) มาแล้ว และสำหรับคนผมแห้ง น้ำมะนาวอาจทำให้ผมแห้งขึ้นอีกได้
5) มีคำแนะนำให้ผสมอินดิโก (Indigo) หรือที่คนไทยเรียกว่าคราม เพื่อให้ได้สีเข้มขึ้น เพราะตัวอินดิโกมีสีออกน้ำเงินเข้ม วิธีใช้อินดิโกมีสองวิธี วิธีแรกคือละลายอินดิโกต่างหาก 15 นาทีก่อนหมักผม แล้วค่อยนำมาผสมในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับเฮนน่า วิธีที่สองค่อนข้างยุ่งยากคือให้หมักเฮนน่าจนเสร็จ แล้วค่อยหมักอินดิโกอีกรอบ
6) เนื่องจากการหมักผมต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หลายคนจึงฉวยโอกาสผสมไข่ไก่ โยเกิร์ต น้ำมันมะกอก เพื่อการบำรุงลงไปด้วยเลย
![]() |
Credit Image : https://www.facebook.com/Hennarella/ |
เขาซื้อเฮนน่ากันที่ไหน
ใครอยากเปิดประสบการณ์สีสันไร้สารพิษกับเฮนน่าสามารถเดินหาซื้อเฮนน่าเหล่านี้ได้ที่ร้านชาวอินเดียใจดีในละแวกพาหุรัด หรือสั่งซื้อเฮนน่าสูตรอินเดียคุณภาพดีทางออนไลน์ก็มีหลายเจ้า
หลายคนที่มีประสบการณ์เฮนน่า มักยืนยันตรงกันว่าหลังจากหมักผมด้วยเฮนน่า สุขภาพผมที่เคยอ่อนแอกลับดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งย้อมผมด้วยเคมี เส้นผมนุ่มสลวยดกดำขึ้น และหลุดร่วงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ข้อเสียเดียวนอกจากเลือกสีไม่ได้ คือการย้อมเฮนน่าไม่ได้ง่ายเว่อร์เหมือนย้อมเคมี แต่คิดดีๆ ก็ไม่ได้ยากไปกว่าการหมักผมสุดสัปดาห์ของสาวๆ เช่นกัน
ใครยังนึกภาพวิธีหมักครีมเฮนน่าบนผมตัวเองไม่ออก มาดู Deborah Brommer สาธิตวิธีกำราบปราบผมขาวสุดแสบด้วยเฮนน่าแบบแซ่บซ่าประสาวัย 40+ ในคลิปข้างล่างนี้เลย