Friday, August 18, 2017

"เฮนน่า" ปิดผมขาวสบายใจแบบสายคลีน





"สายคลีน" ทั้งหลายคงเป็นที่รู้ซึ้งกันดีถึงสารเคมีอันตรายที่ล้อมกรอบชีวิตเราอยู่  แต่ที่ใกล้ชิดติด(หนัง)ศีรษะที่สุดคงไม่พ้นยาย้อมผม ที่ไม่เพียงทำลายสุขภาพผมเงางามของเราอย่างโหดร้ายทุกครั้งที่ใช้ แต่เคมีบางตัวยังสามารถซึมผ่านรากผมลงไปสู่ร่างกาย บางตัวถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดมะเร็งร้ายกันเลยทีเดียว

เรื่องนี้ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาลอยๆ มีการถกเถียงกันถึงสารเคมีหลายพันชนิดที่ใช้กันในยาย้อมผมแบบถาวร งานวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2001 พบว่าผู้หญิงที่ใช้ยาย้อมผมแบบถาวรเดือนละครั้งเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี มีความเสี่ยงต่อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้นสองเท่า

วารสาร American Journal of Epidemiology เคยเผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาย้อมผมและการป่วยด้วยโรคมะเร็งแบบ lymphoid neoplasma (มะเร็งของเม็ดเลือดที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลือง)

หากลองอ่านฉลากหลังผลิตภัณฑ์ย้อมผมประเภทย้อมเร็วได้สีดังใจ จะพบว่ามีรายชื่อสารเคมีมากมาย รวมทั้ง p-phenylenediamine (PPD) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพ้และสัมพันธ์กับมะเร็ง




เปลี่ยนสีมีแต่เสียว


ไม่ต้องให้นักวิทย์มายืนยัน เราเองก็รู้กันทั้งนั้นว่ายาย้อมแบบเคมีทำลายสุขภาพผมแบบเห็นๆ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และแอมโมเนียซึ่งทำหน้าที่ช่วยเปิดเส้นผมชั้นนอกหรือคิวติเคิลออก ดึงสีธรรมชาติออกมาแล้วใส่สีใหม่ลงไปแทน เป็นตัวการทำให้ผมแห้ง ยาย้อมผมแบบชั่วคราวบางสูตรอาจทำลายเส้นผมน้อยกว่า  แต่ย้อมบ่อยๆ และนานๆ ก็ทำให้ผมแห้งเป็นหมี่กรอบ และมีปัญหาผมหลุดร่วงตามมา

เมื่ออายุน้อยเราเปลี่ยนสีผมเพื่อสร้างความสดใส แต่พออายุมากการย้อมผมกลายเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เพราะอยากสวยอีกต่อไปแต่เพื่อปิดบังผมขาว ยิ่งอายุมากยิ่งต้องย้อมผมถี่ๆ ผู้หญิงหลายคนเริ่มใจไม่ดีว่าอาจต้องอยู่ยาย้อมผมเคมีไปตลอดชีวิต

"สายคลีน" จึงเริ่มมองหาผู้ช่วยจากธรรมชาติ ที่อาจเป็นอันตรายน้อยกว่า แล้วก็พบว่า "เฮนน่า" ก็คือคำตอบของใจ


เฮนน่าคืออะไร 


เฮนน่าเป็นสมุนไพรเพื่อความงามที่นิยมที่สุดในอินเดียและประเทศแถบร้อนตั้งแต่เอเชียกลางจนถึงโมรอคโค  ทั่วโลกต่างรู้จักกันดีมาหลายพันปีถึงคุณสมบัติมหัศจรรย์ในการบำรุงผมให้แข็งแรง แต่เฮนน่าไม่ได้มีคุณสมบัติแค่นั้น

ส่วนประกอบของโมเลกุลสีส้มแดงหรือเรียกว่าลอโซเนีย อิเนอร์มิส สามารถเปล่งพลังสีเคลือบเส้นผมให้กลายเป็นเฉดสีแดงแปลกตา เฮนน่าจึงถูกผู้หญิงเจ้าปัญญานำมาเป็นส่วนผสมหลักตั้งแต่โบราณกาลเพื่อใช้เคลือบปิดเส้นผมหงอกขาว ช่วยผู้หญิงให้ยังคงความเยาว์ไว้ได้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปกี่ปี

เฮนน่า "อินเทรนด์" สุดๆ ในอียิปต์เมื่อ 3000 ปีก่อน ตอนที่พระนางคลีโอพัตราและสตรีอียิปต์โบราณ ใช้สารย้อมสีน้ำตาลแดงจากเฮนน่าทามือเพื่อให้ดูสดใส โดยผสมสีเสียดเพื่อให้สีเข้มขึ้น บุรุษอียิปต์ยังนิยมใช้เฮนน่าย้อมผมและเครา

ชาวอินเดียยิ่ง "คูล" กว่า  เพราะรู้จักใช้ใบสดของเฮนน่าย้อมทั้งผ้า ย้อมสีผม ย้อมขน คิ้ว หนวด จนถึงเขียนลายบนฝ่าเท้า หรือบนผิวกายได้อย่างวิจิตรพิสดาร



สีสันแห่งความงาม​


คนไทยและคนทั้งโลกส่วนใหญ่รู้จักเฮนน่าดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความงามจากอินเดีย แต่จริงๆ มันคือต้นไม้ประเภทเดียวกับที่คนไทยเรียกว่าเทียนกิ่ง (หรือเทียนขาว เทียนต้น เทียนย้อม) และคำว่า Henna จริงๆ แล้วมาจากภาษาอาหรับ โดยออกเสียงว่า Hinna

ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Lawsonia Inermis เป็นไม้พุ่มในเขตร้อนตระกูลลีทราซี (Lytharaceae) ​แหล่งปลูกเฮนน่ามีทั้งในอินเดีย เนปาล อราเบีย มอร็อคโค มอริทาเนีย มาลี เซเนกัล ซูดาน อิหร่าน ปากีสถาน มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ยกย่องกันว่าเฮนน่าจากแคว้น Rajasthan ประเทศอินเดีย และประเทศเยเมน มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

​ผงเฮนน่าแท้ๆ จะสีออกเขียว ได้จากการนำทั้งใบ กิ่ง และก้านมาตากแห้งแล้วป่นให้เป็นผงละเอียด เมื่อนำมาใช้ต้องผสมน้ำจนกลายเป็นครีมข้น  นำมาย้อมหมักกับผมทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมงจนติดดี

แตกต่างจากเคมีที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเส้นผม เฮนน่าจะทำหน้าที่แค่เคลือบผมทั้งเส้นให้กลายเป็นสีน้ำตาลแดง/แดงอมทอง/แดงอมส้ม ขึ้นอยู่กับพื้นผมเดิมของแต่ละคน  แต่เนื่องจากคนเอเชียมีเส้นผมสีเข้ม สีของเฮนน่าจึงไม่เห็นเด่นนักบนผมดำ แต่จะเห็นชัดกว่าบนเส้นผมสีเงินหรือขาว  ผลจึงดูเหมือนไฮไลท์ธรรมชาติท่ามกลางผมสีเข้ม

เฮนน่ามีคุณสมบัติการติดทนเทียบเท่าสีย้อมแบบกึ่งถาวร เมื่อย้อมเฮนน่าแล้วสีจะติดเส้นผมนาน 3–4 สัปดาห์ จากนั้นเฮนนาจะค่อยๆ หลุดจางไปตามการสระผม


เกร็ดกรุบกริบเรื่องเฮนน่า


*เฮนนา 100% จะเป็นผงสีเขียวอ่อนๆ แต่บางสูตรเราจะเห็นสีที่ต่างไป เพราะผู้ผลิตเฮนน่านิยมผสมสมุนไพรอย่างอื่นลงไปด้วย เช่น อัมลา (Amla) หรือมะขามป้อม เพื่อช่วยปรับลดโทนแดงให้ออกน้ำตาล  และยังทำให้ผมดกดำไม่หงอกเร็ว บางสูตรยังอาจผสมคราม (Indigo) เพื่อให้ออกสีเข้มขึ้น

*ผู้หญิงหลายคนท้อใจแค่ได้รู้ว่าการทำสีผมด้วยเฮนน่าไม่รวดเร็วทันใจ ว่องไวขนาดแค่ 5-10 นาทีเหมือนที่เคยใช้สารเคมี ขอให้ระลึกว่ายิ่งเร็วทันใจเท่าใด ได้ผลถูกใจราวปาฏิหาริย์เท่าใด ก็หมายถึงต้องพึ่งพาความเก่งกาจของสารเคมีมากเท่านั้น การหมักเฮนน่าจนเข้าเส้นผม อาจกินเวลานานถึง 4-6 ชั่วโมง เทียบได้กับการหมักครีมบำรุงผิวพรรณหรือหมักผมเพื่อบำรุงสุดสัปดาห์

*ผมที่ผ่านการย้อมเคมีมาไม่นาน เฮนน่าอาจจะไม่ทำให้เปลี่ยนสีได้อย่างฉับพลัน  ในช่วงแรกอาจต้องรอจนกว่าผมใหม่ที่ยังไม่โดนเคมีจะงอกขึ้นมา ระหว่างนี้ให้หยุดใช้ยาย้อมผมเคมีก่อน แล้วเริ่มใช้เฮนน่าแทนครีมหมักผม  แม้สีผมยังไม่เปลี่ยน แต่เฮนน่าจะช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผม ปรับสภาพเส้นผมให้แข็งแรงขึ้นอย่างรู้สึกได้  ผมจะมีน้ำหนักเงางามกว่าตอนที่ใช้เคมี

*เฮนน่าจะเพิ่มการติดสีตามระยะเวลาที่ใช้ คนที่ทำเฮนน่าครั้งแรกอาจเห็นว่าผมขาวติดสีทองอ่อนมากๆ จึงถอดใจกลับไปใช้ยาย้อมผมเคมีอีก ลองอดทนย้อมเฮนน่าต่ออีกสักสามรอบ จะเริ่มเห็นว่าผมขาวติดสีมากขึ้นและสีเข้มขึ้นทีละน้อย

*พยายามอย่าใช้เฮนน่าสลับกับยาย้อมผมเคมี เพราะการสลับไปมาอาจจะทำให้ไม่ได้ผลทั้งสองอย่าง


วิธีผสมเฮนน่า


1)  นำผงเฮนน่าเทลงในชาม แนะนำเป็นชามกระเบื้องหรือชามแก้วเนื่องจากล้างออกง่าย กะปริมาณเท่ากับที่จะสามารถหมักผมได้ ขึ้นอยู่กับผมสั้นหรือยาว ความหนาบางของผม  ผมสั้นอาจใช้แค่ 50 กรัม ผมยาวอาจใช้ 100 กรัม ผมยาวและหนา อาจใช้ 150 กรัมเป็นต้น

2) ค่อยๆ เติมน้ำร้อนลงไปในเฮนน่าทีละน้อย  แล้วคนให้เข้ากัน  ถ้าส่วนผสมแห้งก็เพิ่มน้ำทีละน้อย คนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว

3) หากต้องการให้ผมมีสีเข้มขึ้น แนะนำให้ใช้กาแฟผงใส่ลงไปในเฮนน่า หรือจะนำผงกาแฟผสมกับน้ำร้อนแล้วนำมาเทใส่เฮนน่าแทนน้ำเปล่าก็ได้ หรือจะชงกาแฟดำสดเข้มๆ มาผสมแทนน้ำก็ได้ ความร้อนจะทำให้เฮนน่าคายสีออกมาเร็ว แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนจนเดือด

4) ใช้ไม้พายคนส่วนผสมให้เข้ากันจนมีลักษณะเป็นครีมข้นๆ ลองกะด้วยตัวเองว่าให้ข้นขนาดสามารถป้ายลงบนผมได้อยู่ตัวโดยไม่แห้งเกินไป จนเป็นก้อนสากบนผมและไม่เหลวไปจนหยดไหลเยิ้ม

5) ตั้งเฮนน่าทิ้งไว้อย่างน้อยสัก 2-3 ชั่วโมง ผู้รู้แนะนำว่ายิ่งตั้งทิ้งไว้นานยิ่งดี



วิธีย้อมเฮนน่า 


1) เฮนน่าเหมาะสำหรับย้อมลงบนผมที่สะอาดและแห้งสนิท แนะนำให้สระผมและปล่อยให้แห้งก่อนลงมือย้อมเฮนน่า เมื่อพร้อมแล้ว ให้นำผ้ามาคลุมไหล่กันเฮนน่าไหลเปื้อนเสื้อผ้า

2) สวมถุงมือพลาสติกกันเปื้อน แบ่งผมเป็นช่อๆ โดยใช้ที่หนีบผม  แล้วเริ่มป้ายครีมเฮนน่าลงบนผมจากโคนจรดปลาย หรือจะใช้แปรงเล็กๆ ค่อยๆ จุ่มเฮนน่าทาผมจากโคนจรดปลายก็ได้

3) เมื่อทาเฮนน่าลงบนเส้นผมทั้งศีรษะแล้ว ให้นำหมวกคลุมผมพลาสติกสวมทับ แล้วทิ้งไว้ 4-6 ชั่วโมง สำหรับผมขาวอาจทิ้งไว้ให้นานขึ้นเป็น 6-8 ชั่วโมง สามารถทำงานเบาๆ หรือดูทีวีได้ แต่อย่าออกกำลังกาย เพราะหากเหงื่อออก อาจทำให้ผมเปียกชื้นขึ้นมาได้

4) เมื่อครบเวลาแล้ว ให้ล้างเฮนน่าออกด้วยน้ำอุ่น ล้างจนกว่าผมจะสะอาด

credit image : http://www.christianmoerk.com

ปรับสีเฮนน่าได้เล็กน้อย 


หลายคนอยากลองเฮนน่าแต่ยังตะขิดตะขวงใจกับสีโทนแดง มีสูตรปรับสีเฮนน่าเพิ่มเติมอีกหลายสูตรที่เหล่าเฮนนานิสต้าช่วยกันทดลองและแนะนำไว้

1) ผสมกาแฟ 2-3 ช้อนลงไปหรือผสมผงเฮนน่าด้วยกาแฟดำเข้มข้นแทนน้ำเปล่า สามารถลดโทนแดงลงได้เล็กน้อย

2) คนอินเดียนิยมผสมเฮนน่าด้วยน้ำต้มใบชาเข้มๆ ซึ่งจะทำให้สีสว่างขึ้น

3) ผสมน้ำดอกอัญชันแทนน้ำเปล่า โดยใช้ดอกอัญชัน 30-50 ดอก ต้มรวมกับน้ำชาแล้วคั้นเอาแต่น้ำสีน้ำเงินเข้มผสมกับเฮนน่า ทำให้สีผมเข้มขึ้นเล็กน้อย เหมาะกับคนไทย

4) หากใช้ผงเฮนน่า 100% ควรเติมน้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก หรือน้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลลงไป 1-2 ช้อนชา ทำให้สีติดดีขึ้น แต่ไม่ต้องเติมหากใช้เฮนน่าที่ผสมมะขามป้อม(Amla) มาแล้ว และสำหรับคนผมแห้ง น้ำมะนาวอาจทำให้ผมแห้งขึ้นอีกได้

5) มีคำแนะนำให้ผสมอินดิโก (Indigo) หรือที่คนไทยเรียกว่าคราม เพื่อให้ได้สีเข้มขึ้น เพราะตัวอินดิโกมีสีออกน้ำเงินเข้ม วิธีใช้อินดิโกมีสองวิธี วิธีแรกคือละลายอินดิโกต่างหาก 15 นาทีก่อนหมักผม แล้วค่อยนำมาผสมในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับเฮนน่า วิธีที่สองค่อนข้างยุ่งยากคือให้หมักเฮนน่าจนเสร็จ แล้วค่อยหมักอินดิโกอีกรอบ

6) เนื่องจากการหมักผมต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เพื่อเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หลายคนจึงฉวยโอกาสผสมไข่ไก่ โยเกิร์ต น้ำมันมะกอก เพื่อการบำรุงลงไปด้วยเลย


           Credit Image : https://www.facebook.com/Hennarella/


เขาซื้อเฮนน่ากันที่ไหน 


เฮนน่าผง 100% สามารถหาซื้อได้ในแหล่งชาวอินเดียของกรุงเทพฯ อาทิ ย่านจักรเพชรพาหุรัดในราคาย่อมเยาว์มาก แต่ผู้ผลิตชาวอินเดียมักนิยมเพิ่มคุณค่าให้กับผงเฮนน่าด้วยการนำสมุนไพรธรรมชาติบำรุงผมใส่ลงไปเพิ่มเติม เช่น มะขามป้อม (Amla)  ส้มป่อย (Shikakai)  มะคำดีควาย (Ritha) กะเม็ง (Bringraj)  เฮนน่าบางยี่ห้อจึงอาจมีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ใครอยากเปิดประสบการณ์สีสันไร้สารพิษกับเฮนน่าสามารถเดินหาซื้อเฮนน่าเหล่านี้ได้ที่ร้านชาวอินเดียใจดีในละแวกพาหุรัด หรือสั่งซื้อเฮนน่าสูตรอินเดียคุณภาพดีทางออนไลน์ก็มีหลายเจ้า



หลายคนที่มีประสบการณ์เฮนน่า มักยืนยันตรงกันว่าหลังจากหมักผมด้วยเฮนน่า สุขภาพผมที่เคยอ่อนแอกลับดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งย้อมผมด้วยเคมี เส้นผมนุ่มสลวยดกดำขึ้น และหลุดร่วงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ข้อเสียเดียวนอกจากเลือกสีไม่ได้ คือการย้อมเฮนน่าไม่ได้ง่ายเว่อร์เหมือนย้อมเคมี แต่คิดดีๆ ก็ไม่ได้ยากไปกว่าการหมักผมสุดสัปดาห์ของสาวๆ เช่นกัน

ใครยังนึกภาพวิธีหมักครีมเฮนน่าบนผมตัวเองไม่ออก มาดู Deborah Brommer สาธิตวิธีกำราบปราบผมขาวสุดแสบด้วยเฮนน่าแบบแซ่บซ่าประสาวัย 40+ ในคลิปข้างล่างนี้เลย









No comments:

Post a Comment